ไตของสุนัขก็ไม่ต่างอะไรจากมนุษย์ ที่มีหน้าที่ขับของเสียออกจากร่างกาย โดยไตของสุนัขจะช่วยกำจัดของเสียในเลือด ปรับสมดุลแร่ธาตุและของเหลวภายในร่างกายได้ แต่ถ้าหากไตได้รับความเสียหายก็จะส่งผลให้สุนัขเป็นโรคไต ซึ่งเจ้าของสามารถสังเกตอาการได้ หากสุนัขมีอาการก็ควรพาไปพบสัตวแพทย์เพื่อรับการรักษาและดูแลที่เหมาะสม แต่สำหรับใครที่ยังไม่รู้เรื่องราวเกี่ยวกับโรคนี้เรามีข้อมูลดีๆ ที่เป็นประโยชน์มาฝากกัน
รู้จักกับโรคไตในสุนัข
ภาวะไตวายหรือไตเสื่อม เป็นภาวะที่ไตไม่สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งไตทำหน้าที่สำคัญในการกำจัดของเสียออกจากเลือด ควบคุมปริมาณน้ำในร่างกาย ผลิตฮอร์โมนที่ช่วยสร้างเม็ดเลือดแดง และควบคุมระดับแคลเซียมและฟอสฟอรัสในเลือด แต่หากเมื่อไตได้รับความเสียหายจนไม่สามารถทำงานได้เกินกว่า 66% ไตจะไม่สามารถควบคุมสมดุลของน้ำในร่างกายได้ ทำให้ปัสสาวะมีสีจางและปริมาณมากกว่าปกติ และเมื่อไตเสียหายจนไม่สามารถทำงานได้เกินกว่า 75% จะเกิดภาวะไตวาย ซึ่งส่งผลให้ของเสียสะสมในเลือด ทำให้ระดับของเสียในเลือด หรือเรียกว่าค่า BUN และ Creatinine ที่สูงขึ้นกว่าปกติ ยิ่งระดับของเสียสูงขึ้นเท่าใด สัตว์เลี้ยงก็จะยิ่งแสดงอาการของภาวะพิษมากขึ้น ซึ่งเรียกว่า Uremia
สาเหตุของโรคไตในสุนัข
สำหรับไตของสุนัขนั้นอาจจะได้รับความเสียหายจากสาเหตุต่างๆ เช่น ไตวาย การติดเชื้อ สารพิษ และมะเร็ง ซึ่งความเสียหายเหล่านี้มักไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ เพราะโรคไตเป็นภาวะที่พบได้ทั่วไปในสุนัข ดังนั้นการวินิจฉัยและรักษาในระยะเริ่มแรกสามารถช่วยป้องกันไม่ให้โรคนั้นเกิดขึ้นและทำให้สุนัขที่คุณเลี้ยงอยู่สามารถมีชีวิตที่มีคุณภาพได้อีกหลายปี โดยจากการวินิจฉัยโรคจากทางการแพทย์พบมาแล้วว่าปัจจัยที่มีแนวโน้มที่จะทำให้สุนัขเป็นโรคไต มีดังนี้
- ด้านอายุ โดยสุนัขที่มีอายุมากกว่า 7 ปีมีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดปัญหาโรคไตได้
- ด้านอาหาร โดยมักจะกินอาหารสุนัขที่มีฟอสฟอรัสสูงสามารถทำให้เกิดโรคไต หรืออาหารสุนัขที่มีโปรตีนสูงสามารถกระตุ้นให้โรคไตกำเริบได้
- ด้านสายพันธุ์ เพราะสุนัขบางสายพันธุ์มีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคไตบางประเภท ได้แก่ อิงลิช ค็อกเกอร์ สแปเนียล, บลู เทอร์เรียร์, เยอรมัน เชฟเฟิร์ด
- ด้านสิ่งแวดล้อม จากสารเคมีบางชนิด เช่น สารฆ่าเชื้อโรค สารต้านการเยือกแข็ง และสารตะกั่วในสีทาบ้าน สามารถทำลายไตได้ หรือยารักษาโรคของมนุษย์บางชนิดสามารถเป็นพิษต่อไตของสุนัขได้
ภาวะแทรกซ้อนของโรคไต
- ภาวะร่างกายเป็นกรดมากกว่าปกติ เมื่อไตของสุนัขนั้นเกิดทำงานผิดปกติ ความสามารถในการกำจัดกรดออกจากร่างกายพวกเขาจะลดลง ส่งผลให้ระดับกรดในเลือดสูงขึ้น จึงทำให้สุนัขเกิดอาการซึม เบื่ออาหาร กล้ามเนื้ออ่อนแรง อาเจียน และอาจตายได้เลยหากไม่รับการรักษา
- ภาวะความดันโลหิตสูง โดยภาวะนี้มักเกิดจากการสะสมของโซเดียมในร่างกาย รวมถึงการที่ไตหลั่งฮอร์โมนแองจิโอเทนซินมากเกินไป ส่งผลให้ความดันโลหิตสูงขึ้น หากปล่อยทิ้งไว้นาน ไตจะเสื่อมลงอย่างรวดเร็ว และความดันโลหิตที่สูงมากอาจทำให้เกิดเลือดออกในจอประสาทตาและนำไปสู่การสูญเสียการมองเห็นได้
- ภาวะโลหิตจาง ซึ่งไตมีหน้าที่ผลิตฮอร์โมนอีริโทรโปอิทินซึ่งกระตุ้นไขกระดูกให้สร้างเม็ดเลือดแดง เมื่อไตทำงานผิดปกติ การผลิตฮอร์โมนนี้จะลดลง นำไปสู่ภาวะโลหิตจาง
- ภาวะกระดูกพรุน ภาวะนี้เกิดจากการสะสมของฟอสฟอรัสในเลือดเนื่องจากไตไม่สามารถกำจัดออกได้ เพื่อรักษาสมดุลของแคลเซียมและฟอสฟอรัสในร่างกาย ร่างกายจะดึงแคลเซียมจากกระดูก ส่งผลให้เกิดภาวะกระดูกพรุน
- ภาวะของเสียคั่งในเลือด ซึ่งของเสียนี้เรียกว่า ยูเรีย มีความเป็นกรดสูง เมื่อไตไม่สามารถกำจัดออกได้ จะไปรบกวนกระบวนการเผาผลาญต่างๆ ของร่างกาย เช่น ในระบบทางเดินอาหาร อาจทำให้เกิดอาการอาเจียน ท้องเสีย และถ่ายอุจจาระเป็นเลือดสีดำ และหากมีของเสียคั่งมากอาจไปรบกวนการทำงานของระบบประสาทจนทำให้เกิดอาการชัก ภาวะนี้เรียกว่า uremia และจำเป็นต้องได้รับการรักษาเร็วที่สุด
วิธีสังเกตสุนัขที่มีแนวโน้มเป็นโรคไต
เนื่องจากโรคไตเป็นโรคที่วินิจฉัยได้ยากจากอาการภายนอกเพียงอย่างเดียว เนื่องจากไตมักสูญเสียการทำงานมากกว่า 75% แล้วจึงจะแสดงอาการออกมาอย่างที่เราได้อธิบายไปแล้วก่อนหน้านี้ นอกจากนี้ยังเกี่ยวข้องกับอวัยวะอื่นๆ อีกหลายระบบ จึงอาจมีอาการหลากหลาย ดังนี้
- กระหายน้ำเพิ่มขึ้นและปัสสาวะมากขึ้น
- ความอยากอาหารลดลง
- เฉื่อยชาและนอนมากขึ้น
- น้ำหนักลดลง
- มีกลิ่นปากเหม็น
- ร่างกายอ่อนแอ
- มีแผลในช่องปาก อาเจียน และท้องเสีย
แต่อย่างไรก็ตามสุนัขบางตัวอาจไม่แสดงอาการผิดปกติใดๆ จนทำให้เจ้าของมักมองข้ามไป จนกว่าอาการจะรุนแรงมากถึงจะเริ่มรู้ตัวได้ เช่น อาเจียน ถ่ายเป็นเลือดดำ หมดแรง ไม่ยอมใช้ขาหลัง หรือชักกระตุก เป็นต้น
วิธีดูแลน้องหมาเป็นโรคไต
สำหรับวิธีดูแลน้องหมาที่เป็นโรคไตนั้นมีหลายขั้นตอนที่สำคัญ เพื่อช่วยลดความเสี่ยงที่จะเกิดโรคไตและหมั่นดูแลสุนัขให้ดีที่สุด ดังนี้
- ดูแลเรื่องอาหารและน้ำ โดยควบคุมปริมาณโปรตีนและเกลือแร่บางชนิดที่สุนัขได้รับ เนื่องจากโปรตีนและเกลือแร่เหล่านี้อาจทำให้ไตทำงานหนักและเกิดภาวะไตวายเรื้อรังได้ และอย่าลืมให้อาหารสุนัขที่มีโภชนาการเหมาะสม โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาหารสุนัขที่มีโปรตีนและเกลือแร่ในปริมาณที่เหมาะสมสำหรับสุนัขที่มีโรคไต
- ตรวจสุขภาพประจำปี พาสุนัขไปพบสัตวแพทย์เพื่อตรวจสุขภาพประจำปี อย่างน้อยปีละ 1-2 ครั้ง เพื่อตรวจเลือดและตรวจปัสสาวะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับสุนัขที่มีอายุ 7 ปีขึ้นไป
- ดูแลสภาพแวดล้อมที่นอนที่อาศัย ให้เลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่การันตีว่าปลอดภัยต่อสุนัข โดยเฉพาะอย่างยิ่งสารเคมีบางชนิดที่อาจก่อให้เกิดภาวะไตวายเรื้อรังได้
- ดูแลเรื่องความเครียด โดยให้หลีกเลี่ยงไม่ให้สุนัขเกิดความเครียด ตกใจ หรือวิตกกังวล และให้สุนัขได้รับการดูแลและความสนใจใส่ใจอย่างเพียงพอ
- ให้น้ำสะอาดตลอดเวลา โดยวางน้ำสะอาดให้สุนัขได้กินตลอดเวลาเพื่อช่วยรักษาสมดุลน้ำในร่างกายของสุนัข
- ลองสังเกตอาการของสุนัขอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาการกระหายน้ำและปัสสาวะมากขึ้น อาเจียนและเบื่ออาหาร ความดันโลหิตสูง และภาวะโลหิตจาง
- รับการรักษาจากสัตวแพทย์ โดยให้พาสุนัขไปพบสัตวแพทย์เพื่อรับการรักษาและดูแลอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากสุนัขมีอาการที่รุนแรงหรือไม่ดีขึ้นตามปกติ
การดูแลสุนัขที่ป่วยโรคไตวายเรื้อรัง หากเจ้าของสังเกตอาการได้ตั้งแต่เนิ่นๆ แล้วพามาพบสัตวแพทย์โดยทันที จะช่วยชะลออาการของโรคได้อย่างมาก นอกจากนี้แล้วการดูแลเรื่องอาหารให้เหมาะสมกับสภาพร่างกายและอาการของน้องหมาน้องแมว ก็จะช่วยให้พวกเขาอยู่กับเราได้นานยิ่งขึ้น ดังนั้น อย่าละเลยเรื่องอาหารสำหรับสัตว์ที่ป่วยโรคไตเป็นอันขาด เพื่อที่พวกเขาจะได้อยู่กับเราได้นานๆ
อ่านเพิ่มเติม 10 โรคร้ายของสุนัข