โรคไข้หัดสุนัข เป็นโรคที่รุนแรงและอาจทำให้น้องหมาของเราตายได้เลยหากไม่ได้รับการรักษาดูแลอย่างเหมาะสม แม้ว่าอาการเบื้องต้นอาจคล้ายกับไข้หวัดธรรมดาอย่างอาการ ซึม อ่อนแรง และเบื่ออาหาร แต่ไข้หัดสุนัขจะมีความอันตรายมากกว่ามาก เนื่องจากสามารถนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนที่ร้ายแรงได้ ดังนั้นวันนี้เรามาทำความรู้จักกับโรคว่าคืออะไร สาเหตุที่เกิดโรค มีอาการแบบไหน และจะมีแนวทางการรักษาอย่างไร พร้อมวิธีป้องกันอย่างปลอดภัยที่สุด
โรคไข้หัดสุนัข คืออะไร
โรคไข้หัดสุนัข เป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสที่แพร่ระบาดในสุนัขได้ทั่วโลก เมื่อติดเชื้อแล้ว สุนัขมีโอกาสเสียชีวิตสูงมาก เพราะไวรัสชนิดนี้มีสายพันธุ์ที่หลากหลาย บางสายพันธุ์อาจไม่แสดงอาการใดๆ แต่บางสายพันธุ์ก็อาจทำให้เกิดโรคอย่างเฉียบพลันและนำไปสู่ภาวะสมองอักเสบเลยทีเดียว โดยถือว่าพบได้บ่อยในลูกสุนัขอายุระหว่าง 3-6 เดือน เนื่องจากในช่วงวัยนี้ลูกสุนัขยังมีภูมิคุ้มกันต่ำ ทำให้ร่างกายอ่อนแอกว่าปกติ โดยเชื้อไวรัสไข้หัดสุนัขจัดอยู่ในกลุ่มไวรัสที่มีกรดไรโบนิวคลีอิกแบบสายเดี่ยว หรือ ssRNA virus ในวงศ์พารามิกโซไวรัส ซึ่งเป็นวงศ์เดียวกับเชื้อไวรัสที่ก่อโรคหัด และหลอดลมอักเสบในมนุษย์ แต่ถึงอย่างนั้นเชื้อไวรัสเหล่านี้ยังเป็นสายพันธุ์ที่แตกต่างกันจึงไม่สามารถแพร่กระจายจากสุนัขสู่มนุษย์ได้
นอกจากนี้โรคไข้หัดสุนัข ยังเป็นโรคติดต่อร้ายแรงที่แพร่กระจายผ่านการหายใจ โดยไวรัสจะแพร่กระจายในอากาศ ในระยะเริ่มแรก ไวรัสจะโจมตีต่อมทอนซิล จากนั้นจะแพร่กระจายไปยังต่อมน้ำเหลือง ทำให้ไวรัสได้มาจำลองตัวเองในร่างกายสุนัข โดยใช้เวลาประมาณหนึ่งสัปดาห์ จากนั้นจะเริ่มแพร่กระจายไปยังระบบทางเดินหายใจ ระบบทางเดินปัสสาวะ ระบบย่อยอาหาร และระบบประสาท โดยความรุนแรงของโรคไข้หัดสุนัขจะแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆ เช่น อายุของสุนัข ภูมิคุ้มกันของสุนัข และความรุนแรงของสายพันธุ์ไวรัส อัตราการเสียชีวิตมักจะเพิ่มขึ้นตามระยะเวลาที่สุนัขติดเชื้อ ยิ่งในสุนัขที่ไม่ได้รับการฉีดวัคซีนมีโอกาสเสียชีวิตจากโรคไข้หัดสุนัขสูงมาก
สาเหตุของโรคไขหัดสุนัข
เชื้อไวรัสไข้หัดสุนัข สามารถแพร่กระจายได้ผ่านการสัมผัสกับละอองฝอยที่ปนเปื้อนเชื้อจากน้ำลาย และน้ำมูกของสุนัขที่ติดเชื้อ นอกจากนี้ยังอาจติดต่อได้ผ่านการสัมผัสโดยตรงกับสุนัขที่ติดเชื้อ หรือจากแม่สู่ลูกผ่านรกได้ด้วย ซึ่งยังมีรายงานว่าพบแอนติเจนของไวรัสในหมัด ซึ่งบ่งชี้ว่าการติดต่อเชื้อผ่านสัตว์พาหะก็มีโอกาสเป็นไปได้ โดยสุนัขที่มีความเสี่ยงสูงต่อการติดเชื้อไข้หัดสุนัข ได้แก่ ลูกสุนัขอายุต่ำกว่า 4 เดือนที่ยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีน และสุนัขที่เลี้ยงแบบระบบเปิด
แต่ถึงอย่างนั้นเชื้อไวรัสก็ไม่ทนทานต่อสภาพแวดล้อม และสามารถกำจัดได้ง่ายๆ ด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อทั่วไป ผงซักฟอก หรือแสงยูวี แต่สุนัขที่ติดเชื้อสามารถแพร่เชื้อได้นานหลายเดือน ทำให้สุนัขเพียงตัวเดียวแพร่เชื้อได้ในวงกว้าง ซึ่งเชื้อไวรัสนี้ยังพบการติดเชื้อในสัตว์ป่าหลายชนิดอีกด้วยอย่าง ลิง กวาง ช้าง หมี เป็นต้น โดยเชื้อไวรัสสามารถแพร่กระจายไปยังอวัยวะต่างๆ ได้หลายระบบ เช่น ระบบน้ำเหลือง ระบบทางเดินหายใจ ระบบทางเดินอาหาร ระบบทางเดินปัสสาวะ และระบบประสาทส่วนกลาง ทำให้เกิดอาการป่วยที่หลากหลายได้ ตั้งแต่ไม่มีอาการ ไปจนถึงอาการรุนแรงที่อาจทำให้สุนัขตายได้เลย
อาการของโรค
ในระยะเริ่มต้นของการติดเชื้อ ไวรัสไข้หัดสุนัขจะเข้าสู่เนื้อเยื่อน้ำเหลืองของระบบหายใจและเพิ่มจำนวนก่อนแพร่กระจายไปทั่วร่างกาย ทำให้เกิดอาการในสองระยะย่อย โดยระยะแรกมักมีอาการไข้สูงเกิน 39 องศาเซลเซียส มีน้ำมูกเขียวหรือใส ขี้ตาเขียวข้น ไอ จาม หายใจลำบาก โดยอาการเหล่านี้มักปรากฏหลังจากติดเชื้อประมาณ 3-6 วัน และหลังจากติดเชื้อไวรัส ภูมิคุ้มกันของสุนัขจะถูกกด ทำให้เกิดการติดเชื้อแบคทีเรียที่อาจนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนต่างๆ เช่น ปอดอักเสบติดเชื้อ ระบบทางเดินอาหารอักเสบติดเชื้อ อาเจียน ท้องเสีย เบื่ออาหาร น้ำหนักลด และตาอักเสบติดเชื้อ โดยบางสายพันธุ์ของไวรัสไข้หัดสุนัขก็ทำให้เกิดอาการหนาตัวของผิวหนังชั้นนอก ที่อุ้งเท้าและจมูก ทำให้สุนัขเดินผิดปกติเนื่องจากการก้าวขาลงน้ำหนักที่ลำบาก
ในระยะสุดท้ายเมื่อเชื้อไวรัสแพร่กระจายไปยังระบบประสาทส่วนกลางแล้วจะแสดงอาการระบบประสาท เช่น อ่อนแรง ชักเกร็งกระตุก กรามค้ากรามกระตุก กล้ามเนื้อกระตุก อาจอัมพาตเฉพาะส่วนหรือทั้งตัว เดินเซ หัวเอียง สายตาแกว่ง หรือไวต่อการสัมผัส เจ็บปวดมากกว่าปกติ ซึ่งโดยทั่วไปแล้วอาการทางระบบประสาทมักปรากฏในระยะสุดท้ายของโรคก่อนจะตายได้เลย และเป็นจุดที่เจ้าของสัตว์สังเกตเห็นอาการผิดปกติอย่างชัดเจนจนนำสุนัขมาพบสัตวแพทย์ซึ่งอาจจะรักษาได้ไม่ทันแล้ว และแม้ว่าสุนัขอาจได้รับการรักษาตามอาการจนหายได้แล้ว แต่ความเสียหายที่เกิดขึ้นกับระบบประสาทนั้นถาวรและไม่สามารถฟื้นคืนได้เลย ทำให้มีอาการทางระบบประสาทเหลือให้เห็นอยู่จากการติดเชื้อเรื้อรังด้วย
เนื่องจากอาการของโรคไข้หัดสุนัขมีความหลากหลายมาก ตั้งแต่ไม่แสดงอาการจนถึงรุนแรง จึงอาจทำให้หลายคนสับสนกับโรคอื่นๆ ที่มีอาการคล้ายกัน เช่น โรคฉี่หนู โรคตับอักเสบติดเชื้อในสุนัข หรือโรคติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจของสุนัข นอกจากนี้อาการจากการรับสารพิษบางชนิดอย่างตะกั่ว ก็อาจคล้ายกับโรคไข้หัดสุนัขได้เช่นกัน ดังนั้นจึงควรแจ้งสัตวแพทย์ให้ละเอียดและครบถ้วนเพื่อแยกโรคและวินิจฉัยได้อย่างถูกต้องที่สุด
วิธีการดูแลรักษาเมื่อสุนัขเป็นโรคนี้
ในกรณีที่สุนัขป่วยเป็นโรคไข้หัดสุนัขตอนนี้ยังไม่มีวิธีการรักษาที่จำเพาะเจาะจงได้โดยตรง การรักษาจึงเป็นการเน้นไปที่การประคับประคองตามอาการที่สุนัขแสดงออกมา เช่น
- การให้ยาลดไข้
- การให้ยาปฏิชีวนะแบบออกฤทธิ์กว้าง เพื่อป้องกันการติดเชื้อแทรกซ้อน
- การให้สารน้ำทางกระแสเลือด สำหรับสุนัขที่ป่วย ซึม ไม่สามารถทานอาหารเองได้ หรือมีภาวะสูญเสียน้ำและสารอาหาร ท้องเสีย อาเจียนรุนแรง
- การให้ยาต้านอาเจียน
- การดมยาหรือให้ออกซิเจน สำหรับสุนัขที่มีภาวะหายใจลำบาก
- การให้ยาหยอดตา สำหรับสุนัขที่มีขี้ตาเขียวข้นปริมาณมาก หรือมีการอักเสบติดเชื้อและมีแผลบริเวณดวงตา
- การให้ยาระงับชัก เพื่อควบคุมอาการชัก
หากพบว่าสุนัขที่บ้านป่วยเป็นโรคไข้หัดสุนัข ก็ควรแยกเลี้ยงในพื้นที่ปิดเท่านั้น เพื่อป้องกันการแพร่กระจายเชื้อโรคไปยังสุนัขตัวอื่นๆ และหลีกเลี่ยงการใช้ของใช้ร่วมกัน เช่น ภาชนะใส่น้ำและอาหาร กรง ถาดรอง และอื่นๆ และเมื่อสัมผัสสุนัขป่วย ควรสวมถุงมือและล้างมือให้สะอาดก่อนไปสัมผัสสุนัขตัวอื่นทุกครั้ง หากมีสุนัขมากกว่า 1 ตัว ควรพาสุนัขตัวอื่นไปฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หัดสุนัข หากยังไม่เคยฉีด หรือไปฉีดวัคซีนประจำปีเพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกันหากใกล้ครบกำหนดเวลาแล้ว นอกจากนี้เจ้าของควรทำความสะอาดบริเวณบ้านด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ โดยเฉพาะบริเวณที่สุนัขป่วยเคยสัมผัส เช่น กรง ที่นอน ภาชนะ หรือห้องที่สุนัขอาศัยอยู่ เพื่อกำจัดเชื้อโรคอย่างมีประสิทธิภาพ โดยหากมีการนำสุนัขใหม่เข้าบ้าน ควรปรึกษาสัตวแพทย์เกี่ยวกับการดูแล กักโรค และฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันการติดเชื้อโรคไข้หัดสุนัข
สำหรับคลินิกรักษาสัตว์หรือแหล่งที่อยู่ของสุนัขก็ต้องป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสไข้หัดสุนัขด้วย ทั้งสัตวแพทย์ก็ควรแยกสุนัขที่ป่วยเข้ารักษาในวอร์ดติดเชื้อสำหรับสุนัขติดเชื้อโดยเฉพาะ และควรสวมถุงมือทุกครั้งเมื่อสัมผัสสุนัขป่วย และล้างมือให้สะอาดก่อนสัมผัสสัตว์ป่วยตัวอื่น เนื่องจากไวรัสไข้หัดสุนัขสามารถแพร่กระจายได้อย่างรวดเร็วและติดต่อกันได้ง่าย
แนวทางป้องกัน โรคไข้หัดสุนัข
สำหรับวิธีการป้องกันโรคไข้หัดสุนัขที่ดีและมีประสิทธิภาพที่สุด คือ การฉีดวัคซีนให้ครบถ้วนตั้งแต่เป็นลูกสุนัข และฉีดกระตุ้นเป็นประจำทุกปี เพื่อกระตุ้นการสร้างภูมิคุ้มกันในร่างกาย โดยลูกสุนัขควรเริ่มฉีดวัคซีนเข็มแรกเมื่ออายุ 6-8 สัปดาห์ ซึ่งเป็นช่วงที่ภูมิคุ้มกันจากแม่เริ่มลดลง และหลังจากฉีดวัคซีนเข็มแรกแล้ว ควรฉีดกระตุ้นซ้ำอีกอย่างน้อย 2 ครั้ง ห่างกัน 2-4 สัปดาห์ จนกระทั่งลูกสุนัขอายุอย่างน้อย 16 สัปดาห์ ในระหว่างนี้ควรเลี่ยงการพาลูกสุนัขออกไปในพื้นที่สาธารณะด้วย และอย่าลืมพาไปฉีดวัคซีนกระตุ้นภูมิคุ้มกันเป็นประจำทุกปี แต่มีข้อควรระวังคือ ไม่ควรฉีดในสุนัขที่ป่วย สุนัขตั้งท้องระยะท้าย สุนัขให้นมลูก หรือสุนัขที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง เพราะอาจทำให้เกิดอาการป่วยหรือภูมิคุ้มกันไม่เพียงพอ
โดยสำหรับแนวทางป้องกันอื่นๆ ที่เจ้าของควรทำจะมีดังนี้
- เลี้ยงสุนัขในระบบปิดเพื่อลดการสัมผัสกับสุนัขจรจัดหรือสัตว์อื่นๆ ที่อาจเป็นพาหะของเชื้อ
- ระมัดระวังการสัมผัสกับสุนัขหรือสัตว์อื่นๆ เมื่อพาสุนัขออกนอกบ้าน
- หลีกเลี่ยงพื้นที่ที่ไม่สะอาด เช่น กองขยะ พื้นดิน และพงหญ้า
- ให้ยาป้องกันเห็บหมัดเป็นประจำ
- ดูแลรักษาความสะอาดให้สุนัขเพื่อลดโอกาสการติดเชื้อจากแหล่งต่างๆ
โรคไข้หัดสุนัขเป็นโรคติดเชื้อไวรัสที่ร้ายแรง ซึ่งมักพบในลูกสุนัขที่ยังไม่ได้รับวัคซีนครบถ้วน และแพร่กระจายผ่านทางลมหายใจได้ง่าย ซึ่งหากติดแล้วก็อาจทำให้สุนัขตายได้เลย ดังนั้นวิธีที่ดีที่สุดในการป้องกันสุนัขจากโรคนี้คือการฉีดวัคซีนให้สุนัขทุกตัวที่เลี้ยง หากสุนัขที่บ้านเริ่มแสดงอาการป่วยตามที่กล่าวมาข้างต้น ให้รีบแยกสุนัขตัวนั้นออกจากฝูงและพาไปพบสัตวแพทย์โดยเร็วที่สุด
อ่านเพิ่มเติม 10 โรคร้ายของสุนัข