โรคเบาหวาน อีกหนึ่งภาวะที่พบได้บ่อยในหมู่คนไทยแต่ที่หลายคนอาจไม่ทราบคือ สัตว์เลี้ยงอย่างสุนัขก็สามารถเป็นโรคนี้ได้เช่นกัน และแม้ว่าโรคเบาหวานจะไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ในสุนัข แต่เจ้าของน้องหมาก็สามารถจัดการและควบคุมโรคนี้ให้กับสัตว์เลี้ยงของตัวเองได้ด้วยการดูแลที่เหมาะสม ดังนั้นในบทความนี้จะมาทำความเข้าใจเกี่ยวกับโรคเบาหวานในสุนัขเพื่อให้สามารถดูแลสัตว์เลี้ยงอย่างน้องหมาได้อย่างถูกต้อง
โรคเบาหวานในสุนัข
โรคเบาหวาน เป็นภาวะที่ระดับน้ำตาลในเลือดสูงกว่าปกติ โดยปกติแล้วร่างกายจะใช้ฮอร์โมนอินซูลินที่ผลิตจากตับอ่อนเพื่อนำน้ำตาลในเลือดไปใช้เป็นพลังงาน โรคเบาหวานเกิดขึ้นเมื่อ ตับอ่อนไม่สามารถผลิตอินซูลินได้เพียงพอ หรือในอีกกรณีคือ ตับอ่อนผลิตอินซูลินได้ปกติ แต่ร่างกายไม่ตอบสนองต่ออินซูลินอย่างเหมาะสม ซึ่งสาเหตุของโรคเบาหวานทั้งสองประเภทนี้ยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัดในสุนัขเหมือนกับคนขนาดนั้น แต่อย่างไรก็ตามโรคเบาหวานนี้เองก็สามารถจัดการได้ด้วยการดูแลสุนัขของเราอย่างเหมาะสม โดยสามารถทำได้ดังนี้
- การฉีดอินซูลินเป็นประจำเพื่อควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด
- การควบคุมอาหารเพื่อให้แน่ใจว่าสัตว์เลี้ยงได้รับสารอาหารที่เหมาะสม
- การออกกำลังกายเป็นประจำเพื่อช่วยให้ร่างกายใช้กลูโคสได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
สุนัขป่วยโรคเบาหวาน มีอาการอย่างไร
สำหรับสัตว์เลี้ยงของเราอย่างน้องหมา หรือสุนัข ที่เป็นโรคเบาหวาน สามารถสังเกตได้จากอาการผิดปกติที่เกิดขึ้นได้บ่อยๆ เช่น การดื่มน้ำบ่อย ปัสสาวะบ่อย เหนื่อยล้าง่าย น้ำหนักลด อาเจียน และในสุนัขบางตัวอาจมีอาการตาเป็นต้อกระจกด้วย ซึ่งโรคเบาหวานที่เกิดจากการมีน้ำตาลในเลือดสูงเกินไป ร่างกายจะขับน้ำตาลส่วนเกินออกทางปัสสาวะ ทำให้สุนัขของเรามีอาการปัสสาวะบ่อย และกระหายน้ำมากขึ้น เนื่องจากปัสสาวะที่ขับออกมีทั้งน้ำตาลและน้ำ นอกจากนี้ร่างกายของพวกเขาที่ไม่สามารถใช้ประโยชน์จากน้ำตาลได้ จะทำให้สุนัขขาดสารอาหารและพลังงาน ส่งผลให้หิวบ่อย แต่กลับมีน้ำหนักลดลง เนื่องจากร่างกายไม่สามารถรักษาสมดุลพลังงานได้ โดยหากพบอาการเหล่านี้ก็ควรรีบพาไปพบสัตวแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยอย่างถูกต้อง
โรคเบาหวานในสุนัข คล้ายกับในคนอย่างไร
โรคเบาหวานในสุนัข จัดว่าเป็นภาวะที่ร่างกายของน้องหมาไม่สามารถผลิตฮอร์โมนอินซูลินได้เพียงพอ หรือไม่สามารถใช้ฮอร์โมนอินซูลินได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งคล้ายกับกลไกการเกิดโรคเบาหวานชนิดที่ 1 ในคนนั่นเอง คือในสุนัขที่ป่วยเป็นโรคเบาหวานมักเกิดจากการทำลายเซลล์เบต้าในตับอ่อน ซึ่งเป็นเซลล์ที่ผลิตอินซูลิน นอกจากนี้สาเหตุของโรคเบาหวานในสุนัขนั้นอาจจะเกี่ยวกับปัจจัยด้านพันธุกรรมได้เหมือนกัน หรือภาวะโภชนาการ และการติดเชื้ออาจมีส่วนเกี่ยวข้องด้วย
ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้สุนัขป่วยเป็นโรคเบาหวาน
- ภาวะน้ำหนักเกินหรือโรคอ้วน เนื่องจากสุนัขที่มีน้ำหนักเกิน หรือเป็นโรคอ้วน มีความเสี่ยงสูงมากกว่าสัตว์ทั่วไป
- โรคเบาหวานมักพบในสุนัขแก่หรือสูงวัยแล้ว โดยเฉลี่ยประมาณ 8 ปี แต่สามารถเกิดขึ้นได้ในทุกช่วงอายุ
- ในสุนัขเพศเมียนั้นจะมีความเสี่ยงเป็นโรคเบาหวานมากกว่าสุนัขตัวผู้มากถึง 2 เท่า
- สุนัขบางสายพันธุ์มีความเสี่ยงต่อโรคเบาหวานสูงกว่าทั่วไป เช่น ซามอยด์ พุดเดิ้ล เป็นต้น
- ความผิดปกติของฮอร์โมนก็มีส่วน ทั้งความเครียด หรือการตั้งครรภ์ และการทำหมันสามารถทำให้เกิดความผิดปกติของฮอร์โมนกระตุ้นโรคเบาหวานได้
- โภชนาการที่ไม่เหมาะสม เช่น การขาดสารอาหาร การกินอาหารที่ไม่เหมาะสม และการให้อาหารในปริมาณที่มากเกินไป
- การใช้ยาอย่าง ยาสเตียรอยด์ ยาคุมกำเนิด ยาขับปัสสาวะ เป็นต้น อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคเบาหวานได้ด้วย
- โรคอื่นๆ ก็เป็นปัจจัยร่วมที่มีโอกาสเกิดขึ้นได้ เช่น ตับอ่อนอักเสบเรื้อรัง มะเร็งตับอ่อน และโรคคุชชิง เป็นต้น
การตรวจหาเบาหวานในสุนัข
การตรวจหาเบาหวานในสุนัขนั้น ทางสัตวแพทย์จะทำการตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือดของสุนัข โดยปกติจะให้สัตว์เลี้ยงอดอาหารและน้ำอย่างน้อย 8 ชั่วโมงก่อนการตรวจ แต่สำหรับสัตว์เลี้ยงที่หิวน้ำมากก็สามารถให้น้ำเปล่าได้ ซึ่งสัตวแพทย์จะเจาะเลือดโดยใช้เครื่องวัดระดับน้ำตาลที่ออกแบบมาสำหรับสัตว์โดยเฉพาะ แล้วทำการเปรียบเทียบผลลัพธ์กับค่ามาตรฐานระดับน้ำตาลในเลือดของสุนัขคือ 59-121 มิลลิกรัม/เดซิลิตร ซึ่งถ้าหากระดับน้ำตาลในเลือดสูงกว่าค่าที่กำหนด ก็เป็นตัวบ่งชี้ได้ว่าสัตว์เลี้ยงมีความเสี่ยงเป็นโรคเบาหวานสูง
วิธีการดูแล
โดยทั่วไปแล้ว โรคเบาหวานในสัตว์จะไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่สามารถควบคุมได้โดยใช้วิธีการต่างๆ เพื่อไม่ให้อาการแย่ลง เช่น การฉีดอินซูลิน การควบคุมอาหาร และการออกกำลังกาย เป็นต้น ดังนั้นการรักษาโรคเบาหวานในสุนัขเลขเน้นที่การควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้เหมาะสมภายใต้การดูแลของสัตวแพทย์ เพื่อให้น้องหมาของเราที่เป็นโรคเบาหวานมีสุขภาพดีและคุณภาพชีวิตที่ดี สามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ
หากใช้วิธีการรักษาโรคเบาหวานในสุนัขด้วยฮอร์โมนอินซูลินเพื่อควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด ในช่วงแรกของการรักษานั้นสัตวแพทย์จะแนะนำให้เจ้าของนำสุนัขมาพักที่โรงพยาบาลประมาณ 1 สัปดาห์ก่อน เพื่อประเมินและปรับขนาดยาให้เหมาะสม โดยจะตรวจเลือดก่อนและหลังฉีดอินซูลินจนกว่าจะได้ขนาดยาที่เหมาะสมและปลอดภัย หลังจากนั้นเจ้าของจึงจะสามารถฉีดอินซูลินให้สัตว์เลี้ยงที่บ้านได้เอง และทางสัตวแพทย์ก็จะนัดตรวจระดับน้ำตาลในเลือดและปัสสาวะเป็นระยะๆ เพื่อประเมินผลการรักษาและปรับขนาดยาให้เหมาะสมต่อไป
หากเป็นสุนัขที่ผ่านการฉีดอินซูลินมาแล้วให้เจ้าของคอยดูแลเป็นพิเศษตามลักษณะดังนี้
- ควบคุมอาหารการกินให้สุนัขที่เลี้ยง โดยให้อาหารตามเวลาและปริมาณที่กำหนดจากสัตวแพทย์ โดยสุนัขควรเน้นอาหารที่มีกากใยสูง และหลีกเลี่ยงการให้อาหารอื่นๆ ที่ไม่ได้รับคำแนะนำอย่างถูกต้องจากสัตวแพทย์
- ตั้งน้ำสะอาดไว้ให้สัตว์เลี้ยงตลอดเวลา เนื่องจากสัตว์เลี้ยงที่เป็นเบาหวานจะหิวน้ำบ่อยตลอดทั้งวัน และการขาดน้ำอาจทำให้เกิดภาวะขาดน้ำเป็นอันตรายได้
- หากรับยาอินซูลินมาฉีดเองที่บ้านแล้ว จะต้องฉีดอย่างถูกต้องและให้อยู่ในปริมาณ และเวลาที่สัตวแพทย์กำหนดอย่างเคร่งครัดเท่านั้น
- พาสุนัขไปออกกำลังกาย เดินเล่น จะช่วยให้ร่างกายใช้ประโยชน์จากอินซูลินได้ดียิ่งขึ้น ช่วยปรับการไหลเวียนโลหิต แต่ก็ไม่ควรให้ออกหนักหลังฉีดอินซูลินด้วย
- หมั่นตรวจเช็กระดับน้ำตาลในเลือดตามคำแนะนำของสัตวแพทย์ เพื่อควบคุมและติดตามระดับน้ำตาลในเลือดไม่ให้สูงจนเป็นอันตราย และสังเกตอาการผิดปกติด้วย พร้อมตรวจเช็กสุขภาพตลอดทุก 6 เดือน
โรคเบาหวานในสุนัขนั้นถือว่าเป็นโรคร้ายที่เจ้าของควรเฝ้าระวัง เนื่องจากไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้และอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตของน้องหมาของเราได้เลย ดังนั้นหากสัตว์เลี้ยงของเราป่วยเป็นโรคนี้ก็ไม่ต้องหมดกำลังใจไป เพราะเจ้าของสามารถดูแลให้น้องหมามีสุขภาพดีได้ หมั่นพาออกกำลังกายให้แข็งแรง ต่ออายุให้ยืนยาวได้ หมั่นดูแลสุขภาพและพาไปพบสัตวแพทย์ที่ดูแลรักษาอย่างเคร่งครัด
อ่านเพิ่มเติม 10 โรคร้ายของสุนัข