โรคอ้วนในสุนัข ที่หลายคนชอบคิดว่าสุนัขอ้วนๆ มีขนฟูๆ แล้วจะน่ารัก น่ากอด อยากเลี้ยงขุนให้อ้วนท้วนอุดมสมบูรณ์ แต่ท่านรู้หรือไม่ว่านี่คือการปลูกนิสัยการกินให้กับสุนัขแบบผิดๆ และอาจมีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคอ้วน เพราะโรคอ้วนในสุนัขถือว่าเป็นหนึ่งในโรคที่เป็นภัยเงียบ และเป็นโรคที่ควรระวังอันดับต้นๆ ของสุนัข เพราะหากเป็นแล้วจะมีโอกาสเป็นได้ตลอดชีวิต ซึ่งการปล่อยให้สุนัขเป็นโรคอ้วนน่ากลัวมากกว่าที่คิด แล้วเราจะรู้ได้ไหมว่าสุนัขมีความเสี่ยงโรคนี้ อาการ และแนวทางดูแลที่ถูกต้อง
โรคอ้วนในสุนัขอันตรายกว่าที่คิด
โรคอ้วนในสุนัขนั้น ต้องบอกก่อนว่า สุนัขปกติแล้วจะมีน้ำหนักที่เหมาะสมเฉพาะตัว หากน้ำหนักเกินเกณฑ์ 20% แปลว่าเป็นโรคอ้วนแล้ว แต่การวินิจฉัยโรคอ้วนในสุนัขนั้นอาจจะต้องให้แพทย์มาพิจารณาจากหลายปัจจัยด้วย โดยวิธีทั่วไปที่สัตวแพทย์ใช้ตรวจสอบคือการจับหาซี่โครงของสุนัข หากไขมันสะสมในร่างกายที่มากเกินไปก็จะทำให้สุนัขอ้วน แต่สิ่งที่น่ากังวลคือไขมันส่วนเกินเหล่านี้มักเกาะติดอวัยวะภายในอื่นๆ ส่งผลให้เกิดโรคแทรกซ้อนตามมาได้ เช่น โรคหัวใจ โรคตับ โรคไต โรคเบาหวาน โรคไขข้ออักเสบ โรคเกี่ยวกับกระดูก ความดันโลหิตสูง และอื่นๆ
โรคอ้วนในสุนัขส่งผลกระทบร้ายแรงต่อสุขภาพโดยรวม และยิ่งเป็นอันตรายยิ่งขึ้นเมื่อสุนัขมีโรคประจำตัวอยู่แล้ว การเป็นโรคหลายๆ โรคพร้อมกันจะยิ่งทำให้สุขภาพแย่ลงอย่างมาก อีกทั้งหากต้องมีการผ่าตัดในสุนัขที่เป็นโรคอ้วน จะยิ่งมีความเสี่ยงสูงกว่าสุนัขที่มีน้ำหนักปกติ เนื่องจากต้องใช้ยาสลบในปริมาณมาก ทำให้ต้องพักฟื้นนานขึ้น และที่เลวร้ายที่สุดคือโรคอ้วนจะลดอายุขัยของสุนัขลงอีกด้วย
โรคอ้วนในสุนัข เกิดจากอะไร
สำหรับสาเหตุของ โรคอ้วนเกิดในสุนัข จากความไม่สมดุลระหว่างพลังงานที่ได้รับกับพลังงานที่ใช้ ซึ่งเกิดจากหลายปัจจัย ดังนี้
- พันธุกรรม
- อายุ
- การทำหมัน
- การใช้พลังงานในแต่ละวัน
- ปริมาณพลังงานในอาหารที่ได้รับในแต่ละวัน
ซึ่งหลายท่านอาจสับสนระหว่างโรคอ้วน กับ โรคระบบฮอร์โมนในสุนัข เพราะลักษณะคล้ายกันมากแต่โรคฮอร์โมนในสุนัขคือความผิดปกติที่แม้จะกินอาหารน้อยก็ยังคงอ้วนอยู่ ดังนั้นหากสงสัยว่าสุนัขเป็นโรคอ้วนให้พาไปพบสัตวแพทย์เพื่อประเมินและวินิจฉัยอย่างถูกต้องจะดีที่สุด
สัญญาณที่บอกว่าสุนัขกำลังเป็นโรคอ้วน
1.สุนัขที่หายใจแรงหรือหายใจลําบาก และอาการหอบ ซึ่งไม่ใช่แค่สัญญาณของฮีทสโตรก แต่ยังเป็นหนึ่งในสัญญาณที่บอกว่าเป็นโรคอ้วนด้วย การที่สุนัขหายใจลําบากนั้นแสดงว่าระบบทางเดินหายใจกำลังเริ่มมีปัญหา เนื่องจากไขมันสะสมในร่างกายไปเกาะอวัยวะภายใน และทำให้แม้สุนัขจะอยู่นิ่งๆ ก็สามารถหายใจลําบากได้ หากปล่อยทิ้งไว้อาจลามไปเป็นโรคเกี่ยวกับทางเดินหายใจ หรือโรคหัวใจได้เลย ส่งผลให้สุนัขเคลื่อนไหวร่างกายไม่คล่องเหมือนเดิมแล้วเพราะเหนื่อยหอบง่าย
2.อีกวิธีตรวจสอบว่าสุนัขอ้วนหรือไม่ที่ทำได้ง่ายๆ ด้วยตัวเองคือการคลำหากระดูกซี่โครง หากสุนัขมีน้ำหนักปกติ คุณจะสามารถคลำหากระดูกซี่โครงได้ทันทีโดยไม่รู้สึกถึงก้อนไขมันใดๆ รูปร่างของสุนัขจะดูสมส่วน แต่ถ้าหากคุณคลำแล้วไม่เจอกระดูกซี่โครง แสดงว่าสุนัขเริ่มมีน้ำหนักเกินแล้ว สาเหตุที่คลำไม่เจอก็เพราะบริเวณเอวของสุนัขมีไขมันเกาะหนากว่าปกติ
3.สุนัขที่มีน้ำหนักเกิน รูปร่างที่เปลี่ยนแปลงไปก็เป็นอีกสัญญาณที่เราสามารถสังเกตได้ชัดเจน แค่มองก็เห็นแล้วอย่างบนใบหน้า จะมีไขมันที่สะสมหนาตัวขึ้นทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพชัดเลย เราจะเห็นเหนียงที่ย้อยเป็นชั้นๆ และรูปร่างของสุนัขเมื่อมองจากด้านข้างจะกลายเป็นทรงสี่เหลี่ยม ยิ่งในขณะที่สุนัขเดินหรือวิ่งจะมีก้อนเนื้อสั่นไหวบริเวณขาอย่างเห็นได้ชัด
4.สำหรับสุนัขที่อ้วนจะเปลี่ยนพฤติกรรมจากเคยร่าเริง วิ่งเล่น มาเป็นชอบอยู่กับที่ ไม่ค่อยกระตือรือร้น และสนใจแต่เรื่องการกิน เพราะว่าตัวหนักขึ้นทำให้เคลื่อนไหวลําบาก คล้ายกับคนเราเลยที่พอน้ำหนักเพิ่มขึ้นแล้วจะรู้สึกอึดอัด และเคลื่อนไหวลําบากเช่นกันนั่นเอง
5.อีกหนึ่งสัญญาณของสุนัขอ้วนที่เห็นได้ชัดเจนและสามารถใช้เป็นข้อมูลเชิงสถิติได้คือ การเพิ่มขึ้นของน้ำหนักตัวอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากสุนัขเริ่มกินอาหารมากขึ้นเรื่อยๆ ขอขนมอยู่ตลอดเวลา และกินอาหารทิ้งไว้แค่ไหนก็ไม่พอจะหมดจานอยู่ตลอด สุดท้ายหากนำสุนัขไปชั่งน้ำหนักแล้วน้ำหนักต้องขึ้นแน่นอน
โรคอ้วนส่งผลกระทบอย่างไรต่อสุนัข
คุณภาพชีวิตแย่ลง
สุนัขที่มีน้ำหนักเกินจะเฉื่อยชาไม่กระตือรือร้นในการทำกิจกรรมใดๆ ไม่วิ่งเล่นไม่ร่าเริง นอกจากการกินและนอน การเคลื่อนไหวช้าลงและขาดความคล่องตัว เนื่องจากการขาดการออกกำลังกายเป็นประจำ ร่างกายจึงอ่อนแอลง และมีภูมิต้านทานโรค ทำให้เสี่ยงต่อการเจ็บป่วยต่างๆ ได้ง่ายขึ้น ที่สำคัญคือสุนัขที่มีน้ำหนักเกินมักจะมีอายุขัยที่สั้นกว่าสุนัขที่มีน้ำหนักปกติ และมักจะเสียชีวิตจากโรคร้ายแรงต่างๆ ที่เกิดจากภาวะน้ำหนักเกินเสมอ
ไม่ทนสภาพอากาศร้อน
สุนัขที่มีน้ำหนักเกินจะมีชั้นไขมันหนาใต้ผิวหนัง ซึ่งทำหน้าที่เป็นฉนวนป้องกันการถ่ายเทความร้อนออกจากร่างกาย แม้ว่าสุนัขจะระบายความร้อนผ่านการหายใจหอบ การหายใจ และรูขุมขนบางส่วนที่ฝ่าเท้า แต่การที่สุนัขอ้วนก็เปรียบเสมือนการสวมเสื้อผ้าหนาหลายชั้นให้กับสุนัข ซึ่งนั่นคือตัวการของการขัดขวางการถ่ายเทความร้อนอย่างดีเลย ดังนั้นหากสุนัขอยู่ในพื้นที่กลางแจ้ง ที่มีแดดจัดหรือสภาพอากาศร้อนจัด อาจทำให้สุนัขมีความเสี่ยงต่อภาวะโรคลมแดดมากกว่าสุนัขทั่วไปได้
หายใจลำบาก
สุนัขที่มีน้ำหนักเกินมาตรฐานนั้นจะมีไขมันสะสมในส่วนต่างๆ ของร่างกาย ไขมันส่วนเกินเหล่านี้จะไปเกาะบริเวณทรวงอกและช่องท้อง ทำให้การขยายตัวและการหดตัวของทรวงอกขณะหายใจเข้าออกเป็นไปได้ยากขึ้น เราจึงเห็นสุนัขมีอาการที่ต้องออกแรงหายใจมากกว่าสุนัขที่มีน้ำหนักปกติ โรคที่พบได้บ่อยในสุนัขที่มีน้ำหนักเกินแบบนี้คือโรคหลอดลมตีบแคบ ซึ่งมีสาเหตุมาจากพันธุกรรมและความผิดปกติของหลอดลม แต่หากสุนัขมีน้ำหนักเกินด้วยแล้ว จะยิ่งทำให้โรคนี้รุนแรงขึ้นไปอีก
ความเสี่ยงจากการวางยาสลบ
เนื่องจากยาสลบมีคุณสมบัติในการละลายในไขมันได้ดี จึงสามารถกระจายไปยังเนื้อเยื่อที่มีไขมันสูงได้ดีมากกว่าปกติ โดยเฉพาะสมองที่มีองค์ประกอบของไขมันเป็นหลัก แต่ในสุนัขที่มีภาวะอ้วน ยาสลบอาจกระจายไปยังเนื้อเยื่อไขมันอื่นๆ ที่สะสมอยู่ทั่วร่างกายได้ด้วย ทำให้ต้องใช้ปริมาณยาสลบที่สูงขึ้นเพื่อให้เกิดฤทธิ์ที่สมองในระดับที่เพียงพอสำหรับการเหนี่ยวนำอาการสลบ ซึ่งอาจส่งผลให้การฟื้นตัวจากยาสลบเป็นไปได้ยากขึ้น และปอดอาจทำงานได้ไม่เต็มที่ ทำให้การรับและขับยาสลบไม่ดีเท่ากับสุนัขที่มีน้ำหนักปกติ แถมในระหว่างการผ่าตัดนั้นไขมันที่สะสมหนาๆ จะทำให้ปิดแผลผ่าตัดได้ยากด้วย
คลอดลูกออกลูกได้ยาก
การมีน้ำหนักเกินโดยเฉพาะกับสุนัขเพศผู้ จะส่งผลต่อการผลิตสเปิร์มที่ด้อยลง เพราะเนื่องจากไขมันที่สะสมในถุงอัณฑะทำให้เกิดความร้อนสูงขึ้นในบริเวณนั้นได้ ซึ่งปกติแล้วถุงอัณฑะจะมีอุณหภูมิต่ำกว่าอุณหภูมิร่างกายเพื่อให้การผลิตสเปิร์มมีคุณภาพอยู่เสมอ และในสุนัขเพศเมียที่ตั้งท้อง ภาวะน้ำหนักเกินจะเพิ่มความเสี่ยงการคลอดลูกสุนัขได้ยาก เพราะหากแม่สุนัขอ้วน ลูกสุนัขก็อาจมีขนาดใหญ่กว่าปกติส่งผลทำให้คลอดยากได้โดยตรง
สุนัขอ้วนเสี่ยงโรค จะลดน้ำหนักอย่างไรดี
หากกังวลเรื่องโรคอ้วนในสุนัขก็อย่าคิดมากและตกใจเกินไป เพราะถึงการลดน้ำหนักในสุนัขอ้วนนั้นจะต้องใช้เวลานาน แต่ก็ยังสามารถทำได้อย่างปลอดภัย โดยวิธีที่ดีที่สุดคือพาสุนัขของเราไปพบสัตวแพทย์เพื่อขอคำแนะนำและปฏิบัติตามอยากถูกต้องที่สุด โดยหัวใจหลักของการลดน้ำหนักคือการปรับเปลี่ยนอาหาร และกิจวัตรประจำวัน เช่น ให้รับประทานอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการ การงดให้ขนมและให้อาหารที่มีน้ำตาล เป็นต้น
นอกจากนี้แล้วก็ควรพาสุนัขไปออกกำลังกายเป็นประจำแบบเบาๆ เช่น การเดินวันละ 10-20 นาที ต้องเป็นสถานที่ที่มีอากาศถ่ายเท ไม่ร้อนอบอ้าว หรือเล่นกีฬาสำหรับสุนัขเพื่อเสริมสร้างกล้ามเนื้อก็ได้ หรือหากมีปัญหาเกี่ยวกับข้อเข่าในสุนัขด้วย อาจใช้วิธีการพาไปว่ายน้ำ ซึ่งทั้งหมดนี้จะช่วยให้สุนัขได้เผาผลาญไขมันส่วนเกิน และลดน้ำหนักได้อย่างเหมาะสมที่สุด
สุขภาพเป็นสิ่งที่สำคัญกับทุกชีวิต สุนัขเองก็เช่นเดียวกัน เพราะถึงแม้คุณจะมีเงินให้อาหารสุนัขดีๆ ได้ให้อยู่อย่างสบายๆ แต่สุดท้ายก็เกิดปัญหาเรื่องโรคอ้วนตามมาได้เหมือนกัน ดังนั้นหากสุนัขเริ่มมีสัญญาณว่ากําลังจะอ้วนก็ควรระวังและใกล้ชิด คอยควบคุมอาหาร หมั่นพาไปตรวจสุขภาพประจำ เนื่องจากโรคร้ายอาจเกิดขึ้นโดยไม่ทันรู้ตัว การเตรียมความพร้อมและให้สุนัขแข็งแรงเสมอ มีสุขภาพดีตลอดเวลาคือสิ่งที่ดีที่สุด
อ่านเพิ่มเติม 10 โรคร้ายของสุนัข