โรคช่องปากในสุนัข ในระยะเริ่มแรกนั้นโรคในช่องปากของสุนัข จะไม่แสดงอาการที่ชัดเจนจนทำให้เราเข้าใจผิดได้เลย แต่เมื่อสุนัขเริ่มแสดงอาการต่างๆ อย่างการกินอาหารน้อยลง การไม่เคี้ยวอาหาร เริ่มมีกลิ่นปาก และมีเลือดออกจากปาก แสดงว่าโรคในช่องปากได้ลุกลามไปในระดับรุนแรงแล้ว โดยเฉพาะโรคปริทันต์ที่ลุกลามมาจากโรคในช่องปากด้วย ซึ่งเจ้าของสัตว์เลี้ยงมักสังเกตเห็นเมื่อโรคอยู่ในระยะท้ายไปแล้ว ซึ่งมันทำให้ยากต่อการรักษาขึ้นเยอะเลยทีเดียว ดังนั้นเราจึงอยากนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับโรคนี้เพื่อให้เจ้าของสัตว์เลี้ยงได้เข้าใจและตระหนักถึงความสำคัญของการดูแลสุขภาพช่องปากของสุนัขกัน
ทำความรู้จัก โรคปริทันต์ คืออะไร
โรคปริทันต์ (Periodontal Disease) เป็นภาวะที่เกิดจากโรคช่องปากในสุนัข ลุกลามและส่งผลกระทบต่อโครงสร้างที่คอยพยุงฟันของร่างกายสุนัข ซึ่งประกอบด้วยเหงือก เอ็นยึดปริทันต์ เคลือบรากฟัน และกระดูกเบ้าฟัน โครงสร้างเหล่านี้ทำหน้าที่เสมือนรากฐานที่มั่นคงให้กับฟัน ช่วยให้สุนัขสามารถบดเคี้ยวอาหารได้อย่างมีประสิทธิภาพเหมือนเช่นเดียวกันกับคนเลย ซึ่งเมื่อเกิดโรคปริทันต์ โครงสร้างเหล่านี้จะได้รับความเสียหาย และทำให้ไม่สามารถทำหน้าที่ยึดฟันให้คงที่ในขากรรไกรได้ ส่งผลให้ฟันโยกและอาจหลุดออกในที่สุด ดังนั้นโรคปริทันต์จึงเป็นภัยเงียบที่คุกคามสุขภาพฟันของสุนัขอย่างร้ายแรง
สาเหตุการเกิดโรคปริทันต์ในสุนัข
โรคปริทันต์เกิดจากเชื้อแบคทีเรียที่มาจากต้นขอของอาการโรคช่องปากในสุนัข โดยจะอาศัยอยู่ในแผ่นคราบจุลินทรีย์หรือคราบพลัค ซึ่งเกิดจากการสะสมของแบคทีเรีย องค์ประกอบน้ำลาย และเศษอาหารในช่องปาก แผ่นคราบจุลินทรีย์มีลักษณะเป็นแผ่นฟิล์มเหนียวที่เกาะอยู่บนผิวฟัน คอฟัน และร่องเหงือก โดยจะเริ่มก่อตัวภายในไม่กี่นาทีหลังจากแปรงฟัน และจะพัฒนาเป็นแผ่นคราบจุลินทรีย์ที่สมบูรณ์ภายใน 24 ชั่วโมง หากไม่ได้รับการกำจัดออกโดยการแปรงฟันหรือขัดฟัน แผ่นคราบจุลินทรีย์เหล่านี้จะสะสมและจับตัวกับแร่ธาตุแคลเซียมในน้ำลาย จนกลายเป็นลักษณะของหินปูนในที่สุด
ในช่องปากของสุนัขปกติจะมีทั้งเชื้อแบคทีเรียที่อาศัยอยู่ตามปกติอยู่แล้ว และเชื้อแบคทีเรียที่ก่อโรคนั้นเมื่อคราบจุลินทรีย์สะสมมากขึ้น โดยเฉพาะบริเวณขอบเหงือกและร่องเหงือก จะทำให้จำนวนเชื้อแบคทีเรียก่อโรคเพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยร่างกายจะตอบสนองต่อเชื้อแบคทีเรียเหล่านี้ผ่านระบบภูมิคุ้มกัน เช่น เม็ดเลือดขาวและสารกระตุ้นการอักเสบ เพื่อกำจัดเชื้อแบคทีเรีย
การตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกันนี้ทำให้เกิดการอักเสบของอวัยวะปริทันต์ และหากยังมีการสะสมของคราบจุลินทรีย์อยู่ ภาวะของโรคจะรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ และทำให้เกิดความเสียหายต่ออวัยวะปริทันต์ได้นั่นเอง นอกจากนี้แล้วเชื้อแบคทีเรียก่อโรคในร่องเหงือก ซึ่งส่วนใหญ่เป็นแบคทีเรียแกรมลบ จะผลิตสารพิษที่สามารถเข้าสู่กระแสเลือดได้ ส่งผลให้เกิดภาวะติดเชื้อแบคทีเรียในกระแสเลือดและแพร่กระจายไปยังระบบต่างๆ ของร่างกาย ทำให้เกิดโรคอื่นๆ ตามมา เช่น โรคหัวใจ โรคไต โรคตับ เป็นต้น
อาการของสุนัขที่ป่วยโรคในช่องปาก
สำหรับโรคในช่องปากสุนัขที่ร้ายแรงอย่างโรคปริทันต์นั้น จะมีการแบ่งตามลักษณะตามโรคปริทันต์เป็น 2 ระยะตามลักษณะทางคลินิก ได้แก่
ระยะที่เหงือกอักเสบ (Gingivitis)
- เป็นระยะเริ่มแรกของโรคปริทันต์
- เกิดการอักเสบเฉพาะที่เหงือก โดยจะไม่มีการอักเสบหรือทำลายอวัยวะส่วนอื่น
- เหงือกจะมีลักษณะบวมแดง มีเลือดออกที่ร่องเหงือก
- หากกำจัดคราบจุลินทรีย์ออกได้หมด เหงือกจะกลับมาเป็นปกติ
ระยะที่ปริทันต์อักเสบ (Periodontitis)
- เป็นการอักเสบของอวัยวะปริทันต์ที่รองรับฟัน
- เกิดการทำลายเอ็นยึดปริทันต์และกระดูกเบ้าฟัน ซึ่งอาจทำให้ฟันเสียหายหนักได้
- อวัยวะปริทันต์ที่ถูกทำลายจะไม่สามารถกลับมาเป็นปกติได้ แม้จะกำจัดสาเหตุของโรคแล้ว
- สุนัขที่เป็นโรคปริทันต์รุนแรงอาจมีการสลายของกระดูกเบ้าฟัน กระดูกขากรรไกรล่างบางลง ซึ่งอาจเกิดการหักของขากรรไกรล่างได้
- อาการของโรคปริทันต์ในสุนัข ได้แก่ กลิ่นปาก เลือดออกที่ขอบเหงือกหรือปนในน้ำลาย กินอาหารลดลง ไม่เคี้ยวอาหาร เจ็บหรือร้องเมื่อสัมผัสบริเวณปาก ฝีหรือแผลเรื้อรังที่ใบหน้า โดยเฉพาะใต้ตา ซึ่งเกิดจากการติดเชื้อเข้าไปยังโพรงรากฟัน
การรักษาและป้องกันทำได้อย่างไร
สำหรับการรักษาโรคในช่องปาก หรือโณคปริทันต์ จะเน้นไปที่กำจัดคราบจุลินทรีย์และหินปูนที่เกาะอยู่บนฟันและบริเวณขอบเหงือก โดยสัตวแพทย์จะทำการขูดหินปูนและคราบจุลินทรีย์บนผิวฟันและร่องเหงือก พร้อมกับเกลารากฟันเป็นหลัก ซึ่งนอกจากนี้แล้วยังมีวิธีการรักษาอื่นๆ ด้วยอย่างการผ่าตัดปริทันต์ และการกระตุ้นให้เนื้อเยื่อฟื้นฟู ซึ่งคุณหมอจะพิจารณาเลือกใช้ตามความรุนแรงของโรค โดยการรักษานั้นสุนัขต้องอยู่ในสภาวะที่กำลังสลบ เพื่อให้สามารถกำจัดหินปูนและคราบจุลินทรีย์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยการขูดหินปูนโดยใช้เครื่องมือขูดบนพื้นผิวฟันในขณะที่สุนัขยังรู้สึกตัวนั้นไม่ใช่การรักษาที่เหมาะสม เพราะเนื่องจากไม่สามารถกำจัดคราบจุลินทรีย์ที่อยู่ในร่องเหงือกได้ เพราะแม้ว่าจะไม่มีหินปูนบนพื้นผิวฟัน แต่เชื้อโรคยังคงอยู่ในร่องเหงือก ดังนั้นหากสาเหตุของโรคยังไม่ได้รับการกำจัด โรคจะยังไม่หายขาดต่อไปและรุนแรงมากขึ้นไปอีก
เพื่อป้องกันโรคช่องปากในสุนัข และไม่ให้ลามไปถึงโรคปริทันต์ ให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด แนะนำว่าให้แปรงฟันสุนัขทุกวันด้วยยาสีฟันสำหรับสุนัขโดยเฉพาะและแปรงสีฟันขนนุ่ม เพื่อกำจัดคราบจุลินทรีย์อันเป็นสาเหตุของโรคที่สะสมตามร่องเหงือก โดยห้ามใช้ยาสีฟันสำหรับที่คนใช้ เนื่องจากมีฟลูออไรด์ซึ่งเป็นพิษต่อสุนัขที่หากกลืนเข้าไปมากจะเป็นอันตรายได้ ดังนั้นการแปรงฟันเป็นประจำทุกวันมีความสำคัญที่สุด เพราะการแปรงเพียงสัปดาห์ละครั้งหรือวันเว้นวันไม่เพียงพอที่จะป้องกันโรคดังกล่าวนี้ได้ และหากให้ขนมขัดฟัน หรืออาหารเฉพาะสำหรับโรคฟันในสุนัขก็สามารถช่วยลดการสะสมของคราบจุลินทรีย์ได้เช่นกัน
โรคในช่องปากของสุนัข ระยะแรกเริ่มอาจจะไม่ได้มีอะไรให้เราทันระวังตัวให้กับสัตว์เลี้ยงของเรา จนกระทั่งมันลุกลามไปเป็นโรคปริทันต์ในที่สุด ซึ่งเป็นภัยเงียบที่เจ้าของสุนัขหลายคนมองข้าม เพราะเชื้อโรคในช่องปากของสุนัขหลั่งสารพิษออกมาอย่างต่อเนื่อง แม้จะไม่แสดงอาการในทันที แต่จะส่งผลต่อสุขภาพของสัตว์เลี้ยงในระยะยาวได้เหมือนกัน เสมือนเป็นการทำลายสุขภาพอย่างช้าๆ ทำให้สุนัขที่เป็นโรคนี้มีอายุขัยสั้นกว่าสุนัขที่มีสุขภาพช่องปากดี ดังนั้นจึงควรใส่ใจดูแลสุขภาพช่องปากของสุนัขด้วยการแปรงฟันเป็นประจำทุกวัน และพาไปตรวจสุขภาพช่องปากกับสัตวแพทย์ทุกๆ 6 เดือนเป็นประจำด้วย
อ่านเพิ่มเติม 10 โรคร้ายของสุนัข