เมื่ออายุเพิ่มมากขึ้นเราก็มักประสบปัญหาเกี่ยวกับกระดูกและข้อต่อ ซึ่งส่งผลให้การเคลื่อนไหว การลุกนั่งเดินก็ยิ่งลำบากลงเรื่อยๆ เช่นเดียวกับ สุนัข ในช่วงสูงวัยที่ก็ต้องเจอปัญหาเกี่ยวกับกระดูกและข้อต่อไม่ต่างจากคนเราเลย โดยเฉพาะโรคข้ออักเสบ ที่จะส่งผลให้คุณภาพชีวิตของสุนัขลดลงอย่างมาก โดยเฉพาะการเคลื่อนไหว และยังก่อให้เกิดอาการปวดเรื้อรังอีกด้วย
ดังนั้นสำหรับใครที่เลี้ยงสุนัขไว้เป็นสัตว์เลี้ยงประจำบ้าน ก็ควรรู้เทคนิคการเลี้ยงและการดูแลรักษา พร้อมกับการให้สังเกตอาการต่างๆ ที่เป็นสัญญาณของโรคข้ออักเสบในสุนัข พร้อมบอกวิธีการดูแลเจ้าตูบที่เริ่มมีอาการว่าจะเป็นโรคข้ออักเสบเบื้องต้น จะมีแนวทางการสังเกต พร้อมมีวิธีดูแลอย่างไรบ้าง เรามาดูกันเลย
วิธีสังเกตสุนัขที่มีอาการข้ออักเสบ
- ไม่ชอบทำกิจกรรม หนึ่งในสัญญาณบ่งชี้ว่าสุนัขที่เราเลี้ยงอยู่อาจกําลังมีอาการบาดเจ็บทางร่างกาย หรือเป็นโรคข้ออักเสบ คือ สุนัขจะแสดงอาการไม่อยากเคลื่อนไหว ไม่อยากลุก กระโดด หรือวิ่งเล่นเหมือนอย่างที่เคยเป็นมาก่อน รวมถึงอาจมีอาการที่แสดงให้เห็นว่าใช้เวลานานขึ้นในการลุกขึ้นไปขับถ่ายได้อีกด้วย
- หงุดหงิด ส่งเสียงร้อง โดยหากเป็นลูกสุนัข ส่วนใหญ่จะแสดงความร่าเริง กระฉับกระเฉง และเคลื่อนไหวได้อย่างปกติจนเราแยกไม่ออกเลย ดังนั้นถ้าเริ่มมีอาการของโรคข้ออักเสบ ลูกสุนัขจะไม่สามารถแสดงอาการเจ็บปวดได้โดยตรง แต่จะแสดงอาการเจ็บปวดออกมาในรูปแบบต่างๆ แทนเวลาเราเข้าไปจับตามจุดอักเสบ โดยอาจส่งเสียงร้องคร่ำครวญ เสียงคำราม หรือแม้กระทั่งกัดงับเจ้าของที่เข้ามาใกล้ ซึ่งเป็นวิธีการสื่อสารว่ากำลังเจ็บปวดทางร่างกายอยู่
- อ้วนขึ้น น้ำหนักตัวมากขึ้น เพราะเนื่องจากสุนัขที่บาดเจ็บนั้นจะมีการเคลื่อนไหวร่างกายน้อย อาจส่งผลให้น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นได้ เพราะเนื่องจากไม่ได้ออกกำลังกาย ที่ใช้การเผาผลาญพลังงานอย่างเพียงพอนั่นเอง โดยสุนัขที่มีอาการข้ออักเสบอาจเลียสะโพกหรือขาหลัง ซึ่งเป็นการปลอบประโลมตนเอง ซึ่งการเลียซ้ำๆ อาจทำให้ขนบริเวณที่เลียร่วง และอาจเกิดแผลบนผิวหนังได้
- มีการเคลื่อนไหวเปลี่ยนไป โดยเมื่อสุนัขเริ่มมีอาการข้ออักเสบ อาจสังเกตได้จากการเดิน การเคลื่อนไหว ที่ช้าลง และไม่คล่องแคล่วเหมือนเมื่อก่อน หากอาการข้ออักเสบเกิดขึ้นที่คอหรือหลัง สุนัขส่วนมากจะพยายามก้มหัวหรือเราจะเห็นอาการหลังค่อม การยกหัวขึ้น หรืออยู่ในท่าทางที่ผิดปกติในขณะกินอาหารหรือดื่มน้ำ
- หวงตัว ไม่ยอมให้จับ ก็เป็นอาการอีกอย่างหนึ่งของข้ออักเสบ คือ อาจแสดงอาการหงุดหงิดและไม่สบายตัว จนถึงขั้นหลีกเลี่ยงการสัมผัส การเข้ามาเล่นกับเจ้าของ ที่เคยเป็นแบบเมื่อก่อน ซึ่งเราจะสังเกตความผิดปกติได้ทันที เพราะเริ่มมีอาการหวงตัวขึ้น อาการที่ไม่ยอมให้จับให้แตะ แม้ว่าก่อนหน้านี้จะชอบให้อุ้มหรือกอดมาเล่นกับเจ้าของก็ตาม
แนวทางการดูแลสุนัขที่เป็นโรคข้อเสื่อม
หากสุนัขของคุณมีอาการโรคข้อเสื่อมตามที่กล่าวไว้ก่อนหน้านี้ อยากแนะนำให้ไปพบสัตวแพทย์โดยเร็วที่สุด เพื่อทำการตรวจวินิจฉัยและวางแผนการรักษาอย่างถูกต้อง โดยไม่ปล่อยละเลย เนื่องจากโรคข้อเสื่อมไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ และอาการจะยิ่งแย่ลงหากปล่อยไว้นาน โดยการเตรียมตัวรับมือเมื่อสุนัขของเราเป็นโรคนี้จึงมีความสำคัญอย่างมาก เพื่อชะลอการลุกลามของอาการได้นั่นเอง โดยมีคำแนะนำ ดังนี้
ทางสัตวแพทย์อาจสั่งจ่ายยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAID) เช่น carprofen, etodolac หรือ meloxicam เป็นต้น เพื่อบรรเทาอาการปวดและอักเสบ โดยยาเหล่านี้จะให้วันละ 1-2 ครั้ง ควบคู่กับยาลดกรดและยาเคลือบกระเพาะอาหาร เนื่องจากยา NSAID อาจทำให้เกิดแผลในกระเพาะอาหารและระบบทางเดินอาหารได้หากใช้เป็นเวลานานๆ และหากสุนัขมีปัญหาสุขภาพอื่น เช่น โรคระบบทางเดินอาหาร โรคตับ โรคไต หรือโรคหัวใจ ก็ควรแจ้งให้สัตวแพทย์ทราบเพื่อปรับขนาดยาและการรักษาให้เหมาะสม
เมื่อสุนัขของเราเริ่มมีอายุมากขึ้น ร่างกายจะสร้างสารไกลโคซามิโนไกลแคนในข้อกระดูกน้อยลง ทำให้ข้อกระดูกไม่ยืดหยุ่นเหมือนเดิม การเคลื่อนไหวจึงทำให้ข้อต่อเสียดสีกันมากขึ้น และเกิดการอักเสบตามมา กลูโคซามีนจึงจะเข้ามาช่วยเพิ่มการสร้างไกลโคซามิโนไกลแคนและต้านการอักเสบ ทำให้สุนัขเจ็บปวดน้อยลง และฟื้นฟูสุขภาพข้อต่อได้ตามธรรมชาติ ช่วยให้เคลื่อนไหวได้คล่องตัวขึ้น และนอกจากกลูโคซามีนแล้ว สารอาหารสำคัญอย่างโอเมก้า 3, EPA, DHA ในน้ำมันปลา ก็ช่วยลดการอักเสบในข้อต่อได้อีกด้วย ดังนั้นการเลือกอาหารที่มีสารอาหารเหล่านี้จะช่วยให้น้องหมาสุขภาพข้อกระดูกดีขึ้นในระยะยาวได้
การจัดการน้ำหนักตัวที่มากเกินก็สำคัญ เพราะน้ำหนักตัวเยอะจะเป็นภาระต่อข้อกระดูกของสุนัข ทำให้เกิดอาการข้ออักเสบรุนแรงขึ้น การออกกำลังกายเบาๆ เป็นประจำจะช่วยรักษาการเคลื่อนไหวของข้อต่อและรักษามวลกล้ามเนื้อไว้ได้ และการพาน้องหมาไปเดินเล่นก็เป็นวิธีที่ดีมากๆ นอกจากการออกกำลังกายแล้วต้องควบคุมปริมาณอาหารด้วยเพราะสำคัญเช่นกัน โดยให้อาหารที่มีพลังงานต่ำ อุดมด้วยโปรตีนเพื่อเสริมสร้างกล้ามเนื้อ และให้อาหารแค่ 2 มื้อต่อวันก็เพียงพอแล้ว
การกายภาพบำบัดก็เป็นตัวช่วยสำคัญเช่นกัน เพราะช่วยเรื่องการรักษาสภาพกล้ามเนื้อ กระดูก และข้อต่อของสุนัขให้แข็งแรงและใช้งานได้ตามปกติ นอกจากนี้ยังช่วยบรรเทาอาการอักเสบและความเจ็บปวดได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีวิธีการกายภาพบำบัดอยู่หลากหลายแบบ ซึ่งสามารถทำได้ง่ายๆ ที่บ้าน ดังนี้
- การประคบเย็น จะช่วยลดอาการอักเสบ เหมาะสำหรับสุนัขที่มีอาการอักเสบใหม่ๆ ไม่เกิน 48 ชั่วโมง
- การประคบร้อน จะช่วยลดอาการปวดและอักเสบ ทำให้เส้นเลือดขยายตัว ลดความหนืดของน้ำไขข้อ และช่วยให้ข้อต่อเคลื่อนไหวได้ดีขึ้น
- การนวดกระตุ้นไฟฟ้า จะช่วยกระตุ้นกล้ามเนื้อและลดอาการปวดให้ดีขึ้น แต่ควรอยู่ในการดูแลจากแพทย์
- การนวดด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง จะช่วยลดอาการอักเสบและกระตุ้นการไหลเวียนโลหิต แต่ควรอยู่ในการดูแลจากแพทย์
สำหรับสุนัขที่มีอาการรุนแรง หรืออาการเรื้อรัง คุณหมอจะพิจารณาการผ่าตัดรักษาด้วย โดยขึ้นอยู่กับความรุนแรงและสภาพของน้องหมา ซึ่งแต่ละวิธีมีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง และมีหลายวิธี เช่น
- ผ่าตัดเชื่อมข้อ (Arthrodesis) เป็นการผ่าตัดเชื่อมข้อกระดูกเข้าด้วยกัน เพื่อลดความเจ็บปวดและเพิ่มความแข็งแรงของข้อต่อ
- ผ่าตัดเปลี่ยนข้อเทียม (Replacement arthroplasty) โดยเปลี่ยนข้อที่เสียหายด้วยข้อเทียมมาแทน
- การปลูกถ่ายเซลล์กระดูกอ่อนจากการเพาะเลี้ยงเซลล์กระดูกอ่อน (Autogenous osteochondral transplanting) โดยนำเซลล์กระดูกอ่อนจากส่วนอื่นของร่างกาย มาปลูกถ่ายเพื่อซ่อมแซมข้อที่เสียหาย
- การรักษาด้วย stem cell เข้ามาเพื่อกระตุ้นการซ่อมแซมและสร้างเนื้อเยื่อใหม่
สำหรับโรคข้อเสื่อมในสุนัข ก็เป็นโรคที่ค่อนข้างมาเงียบ ภัยเงียบ ที่ค่อยๆ เกิดขึ้นอย่างช้าๆ จนกว่าจะแสดงอาการออกมาก็อาจสายเกินไปแล้ว ดังนั้น การป้องกันจึงเป็นสิ่งสำคัญ การควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสมและการให้อาหารที่ถูกต้องจะช่วยให้ข้อต่อของสุนัขแข็งแรง และป้องกันโรคข้อเสื่อมได้ ดังนั้นหมั่นตรวจเช็คอาการน้องหมาที่คุณเลี้ยงเป็นประจำ และพาไปรักษาตั้งแต่เนิ่นๆ จะดีที่สุด
อ่านเพิ่มเติม 10 โรคร้ายของสุนัข