อาการที่หากสังเกตเห็นว่าน้องหมามีอาการขนร่วงมากกว่าปกติ ก็อย่าเพิ่งรีบตกใจไป เพราะหากก่อนหน้านี้อากาศร้อนมาก่อน น้องหมาจะต้องปรับตัวเพื่อเพิ่มความสามารถในการระบายความร้อน จึงเกิดการผลัดขนขึ้น ทำให้น้องมีอาการขนร่วงมากกว่าปกติ ซึ่งอาการขนร่วงแบบนี้ เมื่อเวลาผ่านไป ขนของพวกมันจะค่อยๆ ร่วงน้อยลง และมีขนใหม่ขึ้นมาแทนที่เหมือนเดิม แต่บางครั้งก็อาจมีการผลัดขนมากกว่าปกติ โดยเฉพาะการขนร่วงเป็นหย่อมๆ กระจายไปทั่วตัว หรือร่วงเห็นแต่ผิวหนังถือว่าน่าเป็นห่วงแล้ว ดังนั้นในบทความนี้เราจะมาอธิบายและวิธีสังเกตพร้อมแนวทางรักษาที่ถูกต้องเพื่อสุนัขกัน
ทำไมน้องหมาถึงขนร่วง
การผลัดขนของสัตว์เลี้ยงอย่างสุนัข เป็นกระบวนการตามธรรมชาติที่ช่วยกำจัดขนที่ตายหรือเสียหายออกไปบนร่างกายของพวกมัน เช่นเดียวกับเส้นผมของมนุษย์ที่หลุดร่วงเป็นประจำนั่นเอง โดยเฉพาะสุนัขพันธุ์ขนยาวที่มีปริมาณขนมากกว่าพันธุ์ขนสั้น โดยเจ้าของสุนัขสามารถสังเกตเห็นขนที่ผลัดออกได้บ่อยๆ บ้างก็อาจปลิวอยู่ในอากาศ ติดอยู่กับเฟอร์นิเจอร์ หรือสะสมตามมุมต่างๆ ได้ แต่ในส่วนของอาการสุนัขขนร่วงนั้นจะแบ่งเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดขึ้นอยู่ 2 สาเหตุด้วยกัน
สาเหตุจากการผลัดขนตามปกติ
โดยพวกมันจะผลัดขนที่ตายแล้วออกเป็นประจำทุกวัน ซึ่งเป็นพฤติกรรมปกติอยู่แล้ว แต่สำหรับบางสายพันธุ์อาจมีฤดูกาลผลัดขนที่ขนจะร่วงมากเป็นพิเศษได้เหมือนกัน ซึ่งหากมีประเด็นอื่นนอกเหนือนั้นคือปัจจัยอื่นที่มาเกี่ยวข้องด้วย ได้แก่
- อาหารสุนัขที่ไม่ได้คุณภาพ ทำให้สุนัขขาดสารอาหาร หรือการกินอาหารซ้ำๆ ก็อาจส่งผลต่อสุขภาพขนและสุขภาพโดยรวมของสุนัขได้
- ระหว่างการตั้งท้อง โดยแม่สุนัขจำเป็นต้องการสารอาหารมากขึ้นในระหว่างตั้งท้อง และหากได้รับสารอาหารไม่เพียงพอก็ส่งผลต่อสุขภาพของทั้งแม่สุนัขและลูกสุนัขได้
- การดูแลที่ไม่ดีพอ เช่น การไม่อาบน้ำเป็นเวลานาน จนทำให้เกิดเห็บหมัด หรือโรคผิวหนังที่มองไม่เห็น ทำให้ขนร่วง กลิ่นตัว และสุขอนามัยโดยรวมแย่ลง
สาเหตุจากอาการขนร่วงผิดปกติในน้องหมา
อาการนี้อาจสังเกตได้ยาก ในสุนัขขนยาวเนื่องจากขนปกคลุมร่างกายอยู่มากๆ แต่สามารถสังเกตได้จากพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปของพวกมันได้ หรือจากปริมาณขนที่เก็บได้จากการทำความสะอาดแต่ละครั้ง ว่ามีปริมาณมากผิดปกติ และสุนัขที่เป็นโรคทางผิวหนังมักจะแสดงอาการให้เห็นได้ชัดเจน เช่น ขนร่วงเป็นหย่อมๆ ขนใหม่ขึ้นช้า ผิวหนังเป็นวงแดง เป็นต้น ซึ่งมีสาเหตุมาจากต้นตอ ดังนี้
- มีการติดเชื้อจากผิวหนัง ซึ่งโรคผิวหนังที่พบบ่อยในสุนัขเกิดจากการติดเชื้อจากแบคทีเรีย เชื้อรา ปรสิต ซึ่งอาจมาจากสภาพแวดล้อมที่ไม่สะอาดหรือการสัมผัสกับสุนัขที่ติดเชื้อได้
- บางครั้งอาการขนร่วงในสุนัขอาจเกิดจากโรคที่ไม่เกี่ยวข้องกับผิวหนังโดยตรง เช่น โรคความเครียดสะสม โรคเกี่ยวกับการไหลเวียนของเลือด หรือโรคระบบทางเดินอาหาร ส่งผลต่อระบบภูมิคุ้มกันจนทำให้เกิดอาการขนร่วงผิดปกติได้
- อาการแพ้สารเคมี ที่มาจากการเปลี่ยนแปลงผลิตภัณฑ์ที่ใช้กับสุนัข เช่น สเปรย์ น้ำมันบำรุง แชมพู อาจทำให้เกิดอาการแพ้ได้ หากสงสัยว่าสุนัขแพ้ ควรพาไปพบสัตวแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุรักษาให้ถูกต้อง
- สภาวะที่ฮอร์โมนไม่สมดุล โดยเฉพาะฮอร์โมนสืบพันธุ์ของสุนัข คล้ายกับคนนั่นเอง เช่น เอสโตรเจน ฮอร์โมนไทรอยด์ที่ต่ำ ฮอร์โมนคอร์ติซอลที่สูงเกินเกณฑ์
แนวทางการรักษาอาการขนร่วงในน้องหมา
- หากสุนัขมีอาการขนร่วงจากการติดเชื้อ เช่น เชื้อรา แบคทีเรีย หรือยีสต์ ให้พาสุนัขไปพบสัตวแพทย์เพื่อวินิจฉัยอาการ เมื่อทราบสาเหตุแล้ว สัตวแพทย์จะสั่งจ่ายยาหยอดตาหรือยาฆ่าเชื้อที่ตรงกับเชื้อที่ติดเชื้อ รวมถึงอาจมีการใช้แชมพูยาในการรักษาร่วมด้วย ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรค
- หากสุนัขมีอาการซึมหรือป่วย ให้พาสุนัขไปตรวจร่างกายและตรวจเลือดเพื่อหาสาเหตุอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น ภาวะฮอร์โมนไม่สมดุล จากนั้นจึงรักษาอาการป่วยที่สุนัขเป็นอยู่ควบคู่ไปกับการรักษาโรคผิวหนัง
- หากสุนัขมีอาการแพ้ ให้พาสุนัขไปพบสัตวแพทย์เพื่อวินิจฉัยและทดสอบอาการแพ้อย่างใกล้ชิด โดยเจ้าของควรหมั่นสังเกตอาการของสุนัขเพื่อดูว่าสุนัขมีอาการแพ้อะไรหรือไม่ เพื่อเป็นข้อมูลสำคัญให้สัตวแพทย์วินิจฉัยได้ง่ายขึ้นด้วย
การดูแลขนสุนัขอาจจะเหมือนว่ายากและน่ารำคาญใจคนเลี้ยงอยู่บ้าง แต่ก็ไม่ใช่เรื่องยากเกินความสามารถเลย เพียงแค่เราต้องหมั่นสังเกตพวกมันอย่างสม่ำเสมอ หรือหากไม่มั่นใจก็พาสุนัขไปพบสัตวแพทย์เพื่อตรวจสุขภาพก็จะช่วยให้เจ้าของสามารถช่วยเหลือน้องได้อย่างตรงจุดมากขึ้น นอกจากนี้การดูแลขนต้องใช้ความอดทนเพราะวงจรการเกิดขนของสุนัขจะใช้เวลาประมาณ 21-28 วัน กว่าจะเห็นผลจึงต้องใช้เวลาสักหน่อย ค่อยเป็นค่อยไป ไม่ต้องเร่งรีบ หากแก้ปัญหาได้ถูกต้อง ตรงกับสาเหตุที่เกิด ก็มั่นใจได้เลยว่าจะกลับมามีขนที่นุ่ม ฟู และสวยงามดังเดิมอย่างแน่นอน